ประวัติความเป็นมา
สมาคมโพลิเมอร์แห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 โดยนักวิชาการโพลิเมอร์ของประเทศกลุ่มหนึ่ง ที่เห็นว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโพลิเมอร์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศได้ขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักวิชาการและหลักสูตรการศึกษาทางด้านโพลิเมอร์เพื่อรองรับความต้องการทางด้านบุคลากรของอุตสาหกรรม วงการโพลิเมอร์ของประเทศจึงน่าจะต้องการศูนย์รวมเพื่อการติดต่อ ประสานงานและการสร้างความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโพลิเมอร์อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนที่จะได้มีการจัดตั้งสมาคมโพลิเมอร์ฯ ได้มีการจัดตั้งชมรมโพลิเมอร์ขึ้นก่อนแล้วในพ.ศ. 2534 ซึ่งต่อมาได้ปรับสถานภาพมาเป็นสมาคมโพลิเมอร์แห่งประเทศไทยในปัจจุบัน


วัตถุประสงค์
1. เป็นศูนย์กลาง
- การประสานความร่วมมือระหว่างนักวิชาการตลอดจนผู้สนใจทางด้านโพลิเมอร์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
- ข้อมูล ข่าวสารทางด้านโพลิเมอร์ของประเทศ
- การติดต่อประสานงานกับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2. ช่วยยกระดับคุณภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมโพลิเมอร์ของประเทศให้ทัดเทียมกับระดับสากล
กิจกรรมหลัก
- จัดอบรม สัมมนา และประชุมวิชาการต่างๆ ทางโพลิเมอร์
- จัดบรรยายหรืออภิปรายในเรื่องหรือปัญหาที่เป็นที่สนใจทางโพลิเมอร์
- เผยแพร่ความรู้ด้านโพลิเมอร์ ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ของสมาคม รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สมาชิกผ่านทางเว็บไซต์สมาคม
- ทำความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เพื่อยกระดับและสนับสนุนวงการโพลิเมอร์ของประเทศ




ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น
ความร่วมมือกับต่างประเทศ
การทำความร่วมมือกับ The Japan Society of Polymer Processing (JSPP) สมาคมโพลิเมอร์แห่งประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือกับ The Japan Society of Polymer Processing (JSPP) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำความร่วมมือในด้านการจัดประชุมวิชาการ โดยกิจกรรมหลัก คือ การจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านโพลิเมอร์
![]() |
1. การเป็นสมาชิกของ Pacific Polymer Federation (PPF) สมาคมโพลิเมอร์แห่งประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของ Pacific Polymer Federation ตั้งแต่ยังมีสถานภาพเป็นชมรมโพลิเมอร์ ปัจจุบันมีประเทศต่างๆ ในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก รวม 17 ประเทศ เป็นสมาชิก กิจกรรมหลักของ Pacific Polymer Federation คือ จัดการประชุมระดับนานาชาติ ทุก 2 ปี ณ ประเทศสมาชิก สำหรับประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติ Pacific Polymer Conference (PPC8) ในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก |
![]() |
2. การเป็นสมาชิกของ Federation of Asian Polymer Societies (FAPS) สมาคมโพลิเมอร์แห่งประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของ Federation of Asian Polymer Societies (FAPS) ซึ่งเป็นองค์กรที่ประกอบด้วยประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย จำนวน 14 ประเทศ ทำความร่วมมือในการสนับสนุนและพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโพลิเมอร์ของประเทศสมาชิก |
![]() |
3. การเป็นสมาชิกของ The International Rubber Conference Organization (IRCO) สมาคมโพลิเมอร์แห่งประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของ The International Rubber Conference Organization (IRCO) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการจัดประชุมวิชาการในระดับนานาชาติทางด้านยาง หรือ International Rubber Conference (IRC) |